การติดตามมติคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย

การติดตามมติคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ที่มอบหมายให้หน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ในปี งบประมาณ 2565

1. การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้หารือร่วมกันระหว่างสถาบันเจ้าหนี้ (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และเกษตรกรเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกัน ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ จาก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และจังหวัดเพชรบุรี ได้ส่งคำขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ มายังกรมส่งเสริมสหกรณ์โดยแต่ละจังหวัดขอขยายระยะเวลาเป็นเวลา ที่ต่างกันดังนี้

  • จังหวัดสมุทรสาคร ขอขยายระยะเวลาออกไป 2 ปี มีหนี้ค้างชำระ 3,000,000 บาท
  • จังหวัดสมุทรสงคราม ขอขยายระยะเวลาออกไป 6 เดือน มีหนี้ค้างชำระ 290,000 บาท
  • จังหวัดเพชรบุรี ขอขยายระยะเวลาออกไป 3 ปี มีหนี้ค้างชำระ 18,947,000 บาท

โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะทำการรวบรวมข้อมูลพร้อมเงินชำระหนี้ที่ชำระครั้งล่าสุดของทั้ง 3 จังหวัด ส่งให้กับกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ส่วนคำขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ จะสรุปและวิเคราะห์ข้อมูลในภาพรวมของ 3 จังหวัด นำเสนอคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อพิจารณาคำขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้

2. การจัดงานสืบสานพิธีทำขวัญเกลือและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเกลือทะเลเพิ่มเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่

คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนเกลือทะเลไทย กรมส่งเสริมการเกษตตร จังหวัดเพชรบุรี เกษตรกร และองค์กรเกษตรกร และหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันจัดงานสืบสานพิธีทำขวัญเกลือและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเกลือทะเลเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565 ณ สหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี จำกัด ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน

3. การดำเนินการขับเคลื่อนและผลักดันให้มีการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรกที่ดี (GAP) โดยการรวมมือของ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

ปัจจุบันมีเกษตรกรสมัครขอรับการรับรองทั้งสิ้น จำนวน 49 คน และมีเกษตรกรผ่านการรับรองแล้ว จำนวน 11 คน พื้นที่นาเกลือที่ได้รับการรับรองแล้ว จำนวน 1,170.78 ไร่

4. การผลักดันให้มีประกาศกระทรวงพาณิชย์ และประกาศกรมการค้าต่างประเทศเพื่อป้องกันเกลือล้นตลาด

  • กำหนดให้ผู้นำเข้าเกลือตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย จำนวน 7 รายการ เช่น เกลือป่นสำหรับรับประทาน เกลือหินที่ไม่ผ่านกรรมวิธี เกลือสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร หรืออุตสาหกรรมยา เกลือสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าเกลือต่อกรมการค้าต่างประเทศ
  • กำหนดให้เกลือตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย จำนวน 7 รายการ ตามข้อ 6.1 เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O) หรือหลักฐานการอนุญาตให้ส่งออกที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจจากประเทศผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกแสดงต่อกรมศุลกากรประกอบการนำเข้า
  • กำหนดให้ผู้นำเข้าเกลือต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร เช่น ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าเกลือกับกรมการค้าต่างประเทศ หรือหน่วยงานอื่นที่กรมการค้าต่างประเทศมอบหมายก่อนนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศประกาศกำหนด และต้องรายงานการนำเข้า การครอบครอง และวัตถุประสงค์การใช้ เป็นรายเดือนต่อกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นการป้องกันเกลือล้นตลาดทำให้เกลือในประเทศราคาตกต่ำ

5. การแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาเกลือทะเล

คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาเกลือทะเล (Ad Hoc) ประกอบด้วยผู้ที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญจากภาครัฐ เอกชน รวมทั้งภาควิชาการ ในการหามาตรการแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดกับเกลือทะเลไทย เพื่อเตรียมการวางแผนสำหรับการผลิตเกลือทะเลไทยในฤดูกาลผลิตต่อไป และหารือ ระดมความคิดเห็นเพิ่มเติมและนำไปพัฒนาแผนการผลิตต่อไป โดยมีนายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

6. การดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ปี 2564

ดำเนินการในพื้นที่การผลิตเกลือทะเล จำนวน 3 จังหวัด ที่มีผลผลิตเกลือทะเลค้างสต็อก จากปีการผลิต 2562/63 โดยชดเชยส่วนต่างราคาขายเกลือทะเลให้กับเกษตรกร ตันละ 250 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ผลผลิตไม่เกินรายละ 443.40 ตัน โดยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร อนุมัติงบประมาณจ่ายขาดวงเงินรวม 12,570,300 บาท แบ่งเป็นค่าชดเชยส่วนต่างราคาเกลือทะเลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เป็นเงินจำนวน 12,204,300 บาท และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 366,000 บาท

ผลการดำเนินงาน สามารถชดเชยส่วนต่างค่าจำหน่ายเกลือทะเลให้เกษตรกรทั้งหมด จำนวน 111 ราย เกลือทะเลทั้งหมดจำนวน 39,841.167 ตัน แบ่งเป็นจังหวัดเพชรบุรี 107 ราย จำนวน 33,067.42 ตัน จังหวัดสมุทรสาคร 36 ราย จำนวน 6,173.75 ตัน และจังหวัดสมุทรสงคราม 2 ราย จำนวน 600 ตัน ซึ่งจำนวนเกลือทะเลที่เข้าร่วมโครงการและการชดเชยส่วนต่างค่าจำหน่ายเกลือทะเลคิดเป็นร้อยละ 81.70 ของเป้าหมายโครงการ รายละเอียดตามตารางสรุปจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ รายจังหวัด

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณ จำนวน 10,075,477.75 บาท คิดเป็นร้อยละ 80.15 ของวงเงินอนุมัติ เป็นค่าชดเชยส่วนต่างราคาเกลือทะเลให้เกษตรกรที่เข้าร่วม โครงการเป็นเงินจำนวน 9,960,291.75 บาท และเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจำนวน 115,086 บาท คงเหลือเป็นเงิน 2,494,922.85 บาท และมีค่าดอกเบี้ยเงินฝากจำนวน 8,632.6 บาท ส่งคืนกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งสิ้น 2,503,554.85 บาท

7. การจัดทำแนงทางการปฏิบัติงานและเกณฑ์การพิจารณาความเสียหาย สำหรับบรรจุในคู่มือการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร

กรส่งเสริมการเกษตร จัดประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ชั้น 2 อาคาร 1 กรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีนายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดี
กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานการประชุม ร่วมกับผู้อำนวยการกลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ด้านพืช กองแผนงาน ผู้อำนวยการกลุ่มทะเบียนเกษตรกร ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เกษตรจังหวัดเพชรบุรี เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร เกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม เกษตรจังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เพื่อจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานและเกณฑ์การพิจารณาความเสียหายตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยฯ สำหรับบรรจุในร่างคู่มือการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร แก่สำนักงานแผนงานแลโครงการพิเศษ ดำเนินการในขั้นต่อต่อไป สำนักแผนงานและโครงการพิเศษ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำคู่มือการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่และส่วนกลาง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผมกระทบจากภัยพิบัติ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดความรวดเร็ว ถูกต้อง ตามระเบียนและหลักเกณฑ์

8. การส่งเสริมและพัฒนา นาเกลือทะเลให้เป็นมรดกทางการเกษตรโลก (GIAHS)

สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ร่วมกับหน่วยงานภาคีจัดงาน “สืบสานพิธีทำขวัญเกลือและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเกลือทะเลเพื่อการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่” ณ สหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี จำกัด อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และมีกำหนดจัดงานพิธีแรกนาเกลือในช่วงปลายปี 2565 เนื่องจากการจัดงานทั้ง 2 งานดังกล่าว เป็นกิจกรรมหนึ่งในหลักเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนระบบมรดกทางการเกษตรโลก

กรมส่งเสริมการเกษตรได้ส่งบุคลากรเข้าอบรมสัมมนาออนไลน์หลักสูตร Seminar in Promoting Dynamic Protection and Sustainable Utilization of Agriculture Heritage for Thailand ในวันที่ 10 -18 พฤษภาคม 2565 จำนวน 12 ราย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ระบบมรดกทางการเกษตรของโลก หลักเกณฑ์และกระบวนการคัดเลือก รวมทั้งเรียนรู้จากกระบวนการพัฒนาและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ระบบมรดกทางการเกษตรของโลกของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสนับสนุนการสำรวจ การอนุรักษ์ และการขึ้นทะเบียนระบบมรดกทางการเกษตรของโลกในประเทศไทย

สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยได้พื้นที่เก็บข้อมูลการพัฒนาและยกระดับแหล่งทำนาเกลือทะเลสู่มรดกเกษตรโลก (GIAHS) โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเกลือทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างยั่งยืน และติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาเกลือทะเลครบวงจร ปีงบประมาณ 2565 ในวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2565 ณ จังหวัดปัตตานี โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อติดตามผลการดำเนินงานการพัฒนาเกลือทะเลไทยของจังหวัดปัตตานี และหารือกับผู้ทีเกี่ยวข้องในส่วนกลางและภูมิภาค
ในการร่วมมือกันพัฒนากระบวนการผลิตเกลือทะเลให้สอดคล้องกับนโยบายเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ตลอดวงจรสำรวจข้อมูลความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อนำมาปรับปรุง
แนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเกลือทะเลไทย

9. การเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเกลือทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างยั่งยืน

สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำร่าง “โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเกลือทะเลเพิ่มเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  • เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตเกลือทะเลให้สอดคล้องกับนโยบายเกษตรสมัยใหม่ ด้วยการปูผ้าใบในพื้นนาเกลือ ปรับปรุงยุ้งฉางเก็บเกลือ และเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล
  • เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยแก่เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล

เป้าหมายสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล จำนวน 110 ราย เพื่อใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตเกลือทะเลให้สอดคล้องกับนโยบายเกษตรสมัยใหม่ ด้วยการปูผ้าใบในพื้นนาเกลือ ปรับปรุงยุ้งฉางเก็บเกลือ และเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตร
ที่ดี (GAP) สำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ.9055-2562)

10. การดำเนินการหาแนวทางการส่งออกเกลือทะเลไปต่างประเทศ

สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ร่วมกับสถาบันเกลือทะเลไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ประสานความร่วมมือกับสำนักการเกษตรต่างประเทศ หาแนวทางการส่งออกเกลือทะเลไปยังต่างประเทศ เพื่อใช้งานด้านต่างๆ เช่น เกลือสำหรับละลายหิมะบนถนนหรือรันเวย์สนามบิน

11. การตรวจเยี่ยมหน่วยงานภาคีและเกษตรกร

คณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยดำเนินการตามแผนการเยี่ยมหน่วยงานภาคี/เกษตรกร ทุก 2 เดือน โดยในปี 2565 จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้

  • การเยี่ยมหน่วยงานภาคี/เกษตรกรของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ครั้งที่ 2/2564 ในวันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น. จังหวัดสมุทรสาคร
  • การเยี่ยมหน่วยงานภาคี/เกษตรกรของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ครั้งที่ 1/2565 ในวันอังคารที่ 22 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. ณ จังหวัดสมุทรสงคราม
  • การเยี่ยมหน่วยงานภาคี/เกษตรกรของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ครั้งที่ 2/2565 ในวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2565
    เวลา 13.00 น. ณ จังหวัดจันทบุรี

12. การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในโครงการพัฒนาเกลือทะเลครบวงจร

กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินโครงการพัฒนาเกลือทะเลครบวงจร ปีงบประมาณ 2565โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกลือทะเลไทย ส่งเสริมความรู้ ทักษะ เตรียมความพร้อมในด้านกระบวนการผลิตตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับการทำนาเกลือ จัดทำข้อมูลการพื้นที่การผลิต ที่เหมาะสมสำหรับเกลือทะเล รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการโลจิสติกส์ โดยดำเนินการจำนวน 5 กิจกรรม ไดแก่

  • กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเกลือทะเล 
  • ส่งเสริมการผลิตเกลือทะเลตามมาตรฐาน GAP
  • พัฒนาศักยภาพเกษตรกรเกลือทะเลและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเกลือทะเล
  • ประชุมเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านเกลือทะเลเพื่อการท่องเที่ยว
  • ประชุมเชิงปฏิบัติการการบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสำหรับเกลือทะเล zoning ระดับเขต

13. ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่

สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ระหว่างวันที่ 20 – 22 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี บุคคลเป้าหมายประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านเกลือทะเล ระดับอำเภอ จังหวัด สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร วิทยากร เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และผู้จัดจากส่วนกลาง รวมทั้งสิ้น 40 คน วัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านเกลือทะเล รับทราบแนวทางในการดำเนินงานขับเคลื่อน การบริหารจัดการเกลือทะเล เพิ่มทักษะความสามารถในการเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตเกลือทะเล การสร้างเครือข่ายการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการโลจิสติกส์ การเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP รวมทั้งได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และวางแผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกลือทะเลไทยให้สอดคล้องและเป็นไปตามแผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปีงบประมาณ 2566 – 2570

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *