การประชุมขับเคลื่อนแนวทางในการกำหนดราคาเกลือทะเลไทยที่เหมาะสม

วันที่ 29 มีนาคม 2565 นายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาเกลือทะเล เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนแนวทางในการกำหนดราคาเกลือทะเลไทยที่เหมาะสม โดยมีนางสาวนันทมาส ทองปลี รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ตลอดจนผู้แทนจากกรมการค้าภายใน การการค้าต่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เข้าร่วมการประชุม ผ่านระบบ VDO Conference จากห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ (OR) ชั้น 2 อาคาร 1
กรมส่งเสริมการเกษตร
โดยที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล ปี 2564/2565 มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนรวม 7 จังหวัด จำนวน 597 ครัวเรือน 941 แปลง เนื้อที่ 19,041.27 ไร่ และประมาณการผลผลิตเกลือทะเลไทย ในฤดูกาลผลิต 2564/2565 มีประมาณการผลผลิตรวม 666,739 ตัน โดยแบ่งเป็น เกลือขาว 134,931 ตัน เกลือกลาง 419,660 ตัน เกลือดำ 111,334 ตันและ ดอกเกลือจำนวน 811 ตันโดยจังหวัดสมุทรสาคร ประมาณการว่าจะมีผลผลิตเกลือทะเลมากทีสุด จำนวน 316,459 ตัน รองลงมาได้แก่จังหวัดเพชรบุรี และสมุทรสงคราม ตามลำดับ
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ครั้งที่ 6/2564 โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้มีมติมอบให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการกำหนดข้อตกลงทางด้านราคาซื้อขายร่วมกัน โดยพิจารณาจากต้นทุนการผลิตเกลือและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดราคาขายเกลือทะเลที่เหมาะสมและเนธรรมกับทุกฝ่าย
ที่ประชุมจึงได้ร่วมกันพิจารณาปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาต้นทุนการผลิตเกลือทะเล อาทิ ราคาของเกลือทะเลในช่วงเวลาต่างๆ ของปี ต้นทุนการผลิตที่เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีการผลิตที่นำมาใช้ ฤดูกาล สภาพของตลาดและภาวะเศรษฐกิจ การคาดคะเนการขึ้นลงของราคาสินค้า และจำนวนผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่ง เพื่อดูสัดส่วนตัวแปรที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาเกลือมากที่สุด
โดยที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางในการกำหนดราคาเกลือทะเลไทยที่เหมาะสม โดยหาข้อมูลสัดส่วนปริมาณของเกลือทะเลแต่ละประเภท ได้แก่ ดอกเกลือ เกลือขาว เกลือกลาง เกลือดำ และขี้แดดนาเกลือ ว่าเกษตรกรผลิตเกลือแต่ละประเภทได้ปริมาณเท่าใด อัตราค่าขนส่งเกลือทะเลพร้อมแหล่งอ้างอิง ปัจจัยที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และยกร่างราคาของเกลือแต่ละประเภท เพื่อนำผลการพิจารณาดังกล่าวเข้าหารือกับผู้ประกอบการซื้อขายเกลือทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาเกลือทะเลไทยมีความผันผวน อันจะส่งผลให้ได้ราคาเกลือทะเลที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับ เกษตรกร ผู้รวบรวมผลผลิต และผู้ใช้เกลือเป็นวัตถุดิบในการผลิต

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *