เกษตรกรปลื้ม ปี 2565 ราคาเกลือทะเลขยับกว่า 3 เท่าตัว เล็งเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม
วันที่ 9 มกราคม 2566 นายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาเกลือทะเล (Ad Hoc) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาเกลือทะเล (Ad Hoc) ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุม 4/1 ชั้น 4 อาคาร 1 กรมส่งเสริมการเกษตร และผ่านช่องทางออนไลน์ (Zoom meeting) โดยมีนางสาวนันทมาส ทองปลี หัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ผู้แทนจากสถาบันเกลือทะเลไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่นาเกลือสมุทรสาคร ชุมนุมสหกรณ์เกลือทะเลไทย สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี กรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมสหกรณ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เข้าร่วมการประชุม
โดยประธานได้แจ้งที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ในปี 2565 ว่า คณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์เกลือทะเลไทย และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกลือทะเลภายใต้แผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปี 2564 – 2568 ที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร การผลักดันให้มีประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกําหนดให้เกลือเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนําเข้ามาในราชอาณาจักร และประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การขึ้นทะเบียนเป็นผู้นําเข้า ซึ่งเป็นการป้องกันเกลือล้นตลาดทําให้เกลือในประเทศราคาตกต่ำ
การดําเนินโครงการแก้ไขปัญหาเกลือทะเล ปี2564 การจัดทําแนวทางการปฏิบัติงานและเกณฑ์การพิจารณาความเสียหายสําหรับบรรจุในคู่มือการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ซึ่งการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ราคาเกลือมีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 กิโลกรัมละ 0.51 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 1.71 บาท ในเดือนสิงหาคม 2565ที่ประชุมยังได้รับทราบการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตเกลือทะเล ปีการผลิต 2565/66 ว่าจะมีผลผลิตเกลือทะเลรวม 7 จังหวัด จํานวน 531,201.87 ตัน โดยจังหวัดที่มีปริมาณผลผลิตเกลือทะเลมากที่สุดได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี จํานวน 219,292.00 ตัน คิดเป็นร้อยละ 41.27 รองลงมาคือจังหวัดสมุทรสาคร จํานวน 208,674.84 ตัน คิดเป็นร้อยละ 39.28 โดยการคาดการณ์ผลผลิตเกลือดังกล่าว จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายเกลือทะเล ปีการผลิต 2565/66 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอปริมาณเกลือทะเลไม่ให้ออกสู่ตลาดพร้อมกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรนาเกลือด้านค่าใช้จ่ายในครอบครัวและหนี้สิน และเพื่อยกระดับราคาเกลือให้สูงขึ้นและรักษาราคาให้มีเสถียรภาพ โดยที่ประชุมเห็นชอบและยืนยันการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตเกลือทะเลดังกล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบรายละเอียดการดำเนินโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเกลือทะเล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างยั่งยืน ซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตเกลือทะเลให้สอดคล้องกับนโยบายเกษตรสมัยใหม่ด้วยการปูผ้าใบในพื้นนาเกลือ การปรับปรุงยุ้งฉางเก็บเกลือและเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นําไปสู่การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ทํานาเกลือทะเล เป็นการช่วยลดภาระดอกเบี้ยแก่เกษตรกรผู้ทํานาเกลือทะเล
ด้าน ดร.จุฑามาศ ทะแกล้วพันธุ์ ผู้แทนสถาบันเกลือทะเลไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เปิดเผยว่า ในปี 2565 สถาบันเกลือทะเลไทย ได้พัฒนานวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าเกลือ โดยจัดทำเครื่องสะตุเกลือซึ่งสามารถแปรรูปเกลือดำซึ่งมีมูลค่าต่ำให้เป็นเกลือบริสุทธิ์ที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งสมารถเพิ่มส่วนผสมอื่นๆ ให้สอดคล้องกับการนำเกลือไปใช้งานด้านต่างๆ อาทิ เกลือบริโภค เกลือสำหรับเวชสำอาง เกลือละลายหิมะ เป็นต้น ซึ่งกระบวนการแปรรูปเกลือด้วยวิธีดังกล่าวใช้ต้นทุนในการผลิตเพียงกิโลกรัมละ 3 บาท เมื่อแปรรูปแล้วจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้สูงถึงกิโลกรัมละ 95 – 120 บาท ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการขับเคลื่อนและพัฒนาเกลือทะเลไทยให้ได้มาตรฐานและคุณภาพสู่สากล