กระทรวงเกษตรฯ ตรวจเยี่ยมเกษตรกรและหน่วยงานภาคี เดินหน้าขยายผล GAP เกลือทะเล พร้อมส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

วันที่ 6 มิถุนายน 2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย พร้อมด้วยนางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายชาญยุทธ์ ภาณุทัต ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยงานภาคีและเกษตรกร ครั้งที่ 2/2565 ณ ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี แปลงนาเกลือทะเล และแปลงไม้ผลของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการบริหารจัดการเกลือทะเลไทยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กำลังใจ ข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหากับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะผลการดำเนินการตรวจรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP สำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ.9055-2562) และการนำวัสดุเหลือใช้จากนาเกลือทะเลมาใช้ในการผลิตไม้ผลในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเกลือทะเลโดยมีนายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยได้มอบใบรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับเกษตรกรที่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำงานเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) รายแรกของจังหวัดจันทบุรี คือ นางสาวจันทร์เพ็ญ มากพงษ์ พร้อมทั้งกำชับให้เกษตรกรนาเกลือทะเลเร่งพัฒนาคุณภาพในการผลิตเกลือทะเลไทยให้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค

การตรวจเยี่ยมครั้งนี้ เกษตรจังหวัดจันทบุรีได้รายงานผลการดำเนินกิจกรรมเกลือทะเลของจังหวัดจันทบุรีว่า มีพื้นที่อยู่ในตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรชาวนาเกลือทะเลได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้วทั้งหมดจำนวน 9 ครัวเรือน พื้นที่ 229 ไร่ ปริมาณเกลือทะเลที่ผลิตได้เฉลี่ยประมาณ 2,589 ตัน/ปี สร้างมูลค่าได้ปีละ 9.98 ล้านบาท โดยผลผลิตเกลือทะเลที่ได้นำไปใช้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายให้กับลูกค้ากลุ่มต่างๆ ได้แก่ ผู้บริโภคทั่วไป ผู้แปรรูป เกษตรกรผู้ทำนากุ้ง เกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้เลี้ยงปศุสัตว์สำหรับผสมอาหารสัตว์

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการรวมกลุ่ม สร้างเครือข่ายการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ตลอดจนการฝึกปฏิบัติ และตรวจประเมินความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP ทางเกลือทะเล ให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลือทะเล จำนวน 10 ราย จนกระทั่งส่งผลให้มีเกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) เป็นรายแรกของจังหวัดจันทบุรี

ด้านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอท่าใหม่และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ได้ดำเนินการพัฒนากลุ่มเกษตรกรเกลือทะเล อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตดอกเกลือและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ขัดหน้า ขัดผิว แช่ผิว แช่เท้า และสบู่ เป็นต้น รวมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างแบรนด์ให้กลุ่มเกษตรกรด้วย

ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฐราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา รายงานผลการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรชาวนาเกลือ ได้แก่ การสร้างรายได้เสริมให้กับชาวนาเกลือ การส่งเสริมการทำแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์ขี้แดดนาเกลือและแนวทางการส่งเสริมการตลาด การจัดการคนและข้อมูลการพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบเกลือทะเลในภาคตะวันออก การบริหารจัดการเชื่อมโยงกับองค์กรภายนอก การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้านเกษตรอินทรีย์จากการใช้ประโยชน์ของขี้แดดนาเกลือ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการยกระดับการบริหารจัดการ

จากนั้นประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันตรวจเยี่ยมแปลงนาเกลือของนางสาวจันทร์เพ็ญ มากพงษ์ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 22/2 ซอยป่าแดง – ยายม่อม ตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่จำนวน 40 ไร่ มีปริมาณผลผลิต 73 ตัน/ปี โดยเกษตรกรได้แจ้งปัญหาอุปสรรคในการผลิตเกลือทะเลคือ เรื่องภัยธรรมชาติ (อุทกภัย) การผันผวนของราคา และผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) และมีความต้องการพัฒนากระบวนการผลิตโดยใช้พลาสติกรองพื้นนาในการผลิตเพื่อ

ทำให้เพิ่มปริมาณและคุณภาพของเกลือทะเล โดยคณะกรรมการฯ ได้แนะนำว่าให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตดอกเกลือในสัดส่วนที่มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่ทำให้เม็ดเกลือเสียหาย รวมทั้งจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องราคาผันผวน พร้อมศึกษาแนวทางในการดำเนินการนำพลาสติกมารองพื้นนาให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต

ต่อมาได้ร่วมกันตรวจเยี่ยมแปลงไม้ผลของนายสมชาย ธัญพืช ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีการใช้ขี้แดดนาเกลือ นำไปปรับสภาพดิน และเพิ่มคุณภาพรสชาติของไม้ผลให้ดียิ่งขึ้น เช่นมังคุด มีการใช้ขี้แดดนาเกลือเพื่อลดอาการยางไหล และเนื้อแก้วในผลมังคุด ซึ่งใส่ครั้งละประมาณ 1 กำมือ โดยใส่ช่วงมังคุดระยะเท่าลูกมะนาว

โดยในการตรวจเยี่ยมฯ ครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้เร่งผลักดันให้มีการขยายผลการตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP การทำนาเกลือทะเล และสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนไม้ผลนำวัสดุเหลือใช้จากนาเกลือมาใช้ในการผลิตไม้ผลรวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้นวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเกลือทะเลเพื่อพัฒนาเกลือทะเลไทยต่อไป

You may also like...

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *